การเดินทางของสายปฏิวัติ

25/6/53

นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่



เออร์เนสโต เช เกวารา บุรุษหน้าตาคมคาย ตามประสาลูกครึ่งไอริช - สเปน คิ้วเข้ม หนวดเคราดกหนา ผมยาว ใส่หมวกแบเร่ต์ติดดาว ผู้ทำให้คำว่า "การปฏิวัติ" ในหัวใจคนหนุ่มสาวเป็นรูปร่างชัดเจน ที่สำคัญเรื่องราวของเช ก็ราวกับนิยายสะเทือนใจ

เช เกวารา เกิดที่ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 1928 ในครอบครัวคนชั้นกลาง หลังจากจบการศึกษาด้านการแพทย์ ด้วยวิญญาณของนักต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เขาเดินทางไปท่องทวีปอเมริกาใต้ และเข้าร่วมกับองค์กรประชาชนประเทศต่างๆ ต่อสู้กับรัฐบาลที่ปกครองประเทศอย่างกดขี่ข่มเหงประชาชน ชีวิตในช่วงแสวงหานี้ ทำให้เขามีโอกาสรู้จักกับ ฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติหนุ่มชาวคิวบา และเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่มี คาสโตร เป็นผู้นำ

เช ได้พบกับ คาสโตร เมื่อปี 1955 เมื่อคาสโตรถูกเนรเทศจากคิวบา โทษฐานก่อรัฐประหารหมายโค่นเผด็จการบาติสต้า รวมสมัครสมัครพรรคพวกได้ 82 คน ลงเรือจากเม็กซิโกในคืนเดือนมืด แรมทะเลเจ็ดคืนจึงขึ้นฝั่งที่คิวบา เพราะโดนคลื่นลมพัดพาไปผิดเป้าหมาย ทำให้ถูกโจมตีจนเหลือกำลังพลเพียง 12 คน - ปี 1959 ฟิเดล คาสโตร ก็ยึดคิวบาได้ เชได้รับการยกย่องจากคาสโตรให้เป็นนักทฤษฎีคนสำคัญ


"นักรบกองโจร คือชนิดของคนที่เสมือนผู้นำทาง เขาจะต้องช่วยคนจนเสมอ เขาจะต้องมีความรู้พิเศษทางเทคนิค มีวัฒนธรรมและศีลธรรมสูง มีความอดทนยิ่งต่อความทุกร์ทรมาน และความยากลำบาก มีความสำนึกทางการเมืองสูง" เช เกวารา นักทฤษฎีและนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย ผู้เชื่อมั่นการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจร กล่าว

หลังจากประสพผลสำเร็จในสงครามปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลบาติสต้าแล้ว ฟิเดล คาสโตร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เช เกวารา เหมือนเป็นหมายเลขสองของประเทศรองจากคาสโตร เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และดูแลการเงิน การคลังของประเทศในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ ของคิวบา แต่ด้วยวิญญาณแห่งการปฏิวัติไม่เคยมอดไหม้ไปกับยศฐาบรรดาศักดิ์ เขาลาจากคิวบาและคาสโตร พร้อมเพื่อนๆ เพื่อไปร่วมสงครามปฏิวัติที่ คองโก ในทวีปแอฟริกา แต่ล้มเหลว จากนั้นจึงเดินทางเข้าไปยังประเทศโบลิเวีย เพื่อร่วมกับกบฏโบลิเวียทำสงครามปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการโบลิเวียในสมัยนั้น

เชได้ทำตามหลักการที่เขาวางไว้ โดยเมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งการเมืองในรัฐบาลคาสโตร เพื่อออกไปเป็นนักรบกองโจรในโบลิเวียนั้น "ผมไม่ได้ทิ้งสมบัติอะไรไว้ให้ภรรยาและลูกๆ ของผม แต่ผมก็ไม่เสียใจ กลับรู้สึกมีความสุขที่มันเป็นไปอย่างนี้" (จดหมายลาถึงคาสโตร)

จากผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ ไปเดินป่าอีกครั้ง ระหว่างร่วมรัฐบาลก็ไม่มีสมบัติอะไร - การกระทำของเขาใกล้ศาสดาเข้าไปทุกที สังคมนิยมของเช มีความหมายมากกว่าการพัฒนาทางวัตถุ หรือมุ่งเน้นแต่เรื่องยกระดับการครองชีพ "คุณภาพชีวิตจะต้องดีขึ้นด้วย ความหมายของการครองชีวิตต้องจัดควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางวัตถุ... ผู้ใช้แรงงานจะรู้สึกว่าการทำงานเป็นความภาคภูมิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์"และ "ลัทธิทุนนิยมได้ติดสินบนความภาคภูมิใจของคนงาน และเปลี่ยนเขาไปสู่ความละโมบเพื่อตัวเอง ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันผิดๆ คือเขาทำงานเพื่อเงิน ไม่ใช่ทำงานเพื่องานของสังคมการพัฒนาความสำนึกก็หมายความว่า ปลุกเร้าให้กรรมกรทำงานด้วยความเต็มใจและยินดี ไม่ใช่เพื่อความทะเยอทะยาน ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เพื่อบรรลุอุดมการณ์ของพวกเขา เพื่อความเชื่อในตัวผู้นำของเขา และเพื่อความปรารถนาอนาคตที่ดีกว่าสำหรับสังคมทั้งมวล อันจะย้อนเข้ามาสู่ตัวพวกเขาเอง โดยมีรัฐเป็นผู้ดูแลสนองสิ่งที่เขาต้องการทุกอย่าง ด้วยวิธีนี้จะทำให้คนงานสามารถใช้แรงงานเพื่อสิ่งที่ดีงามโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งเงินตรากลายเป็นสิ่งล้าสมัย เหมือนกับการค้าทาสที่ต้องสิ้นสุดลง"


นี่คือสังคมในอุดมคติของเช เป็นฝันไกลที่มนุษย์ยังไปไม่ถึง แม้แต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม? หรือคอมมิวนิสต์?? แต่ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าความฝันเช่นนี้หมดความหมายลงโดยสิ้นเชิง เพราะครั้งหนึ่งก็เคยกระตุ้นคนหนุ่มสาวให้ร่วมฝัน ร่วมสู้ ร่วมสร้าง จะสำเร็จหรือล้มเหลวจิตใจเช่นนั้น การกระทำตรงนั้นก็ดีงาม ซากความฝันอาจยังมีพลังจางๆ แอบแฝงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่มุ่งลิ่วไปในทิศทางทุนนิยม เป็นพลังจางที่ทำให้เหลือส่วนเสี้ยวริ้วรอยของความฝันเก่าๆ อยู่บ้าง

ไม่เฉพาะเรื่องสังคม-เศรษฐกิจ ในเรื่องศิลปะ เชก็ฝันไว้ว่า"ในสังคมทุนนิยมและในสังคมระบอบสังคมนิยม ศิลปะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในสังคมทุนนิยม ศิลปะที่แพร่หลายเป็นเพียงเครื่องหย่อนใจที่ไร้สาระ เป็นทางระบายความไม่สบายใจของมนุษย์ให้เกิดความส่วนตัวชั่วครู่ชั่วยาม..."หนึ่งในหลายเหตุผลที่เชต้องกลับเข้าป่าอีกครั้ง ทั้งที่อายุย่างเข้าวัยกลางคน และมีโรคหืดหอบประจำตัวมาตั้งแต่เด็ก ก็คือ ความไม่สมหวังในการสร้างคิวบา เขาชิงชังการเห็นแก่ตัวและการช่วยเหลืออย่างเสียไม่ได้ที่โซเวียต และประเทศยุโรปตะวันออกในยุคครุสชอพให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา เชจึงลอกคราบการเป็นนักบริหารและนักการฑูตของคิวบาซึ่งตัวเขาเป็นมาหลายปี ออกไปสู่ป่าเพื่อทำการปฏิวัติโดยไม่ได้หยุดหย่อนเหมือนเมื่อวัยหนุ่ม ๆ อีกครั้ง เตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิต และความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ที่ยากจนที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

เชพร้อมด้วยสมัครพรรคพวกมิตรร่วมรบเก่า ๆ รวม 17 คน เช้าป่าโบลิเวีย เขาประกาศทำศึกกับมหาอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ประชุมสหประชาชาติ หรืออยู่ในป่าโบลิเวีย และนี่อาจเป็นสาเหตุแห่งความตายของเขา เขาปลุกเร้าแนวทางให้ประเทศโลกที่สามเอเชีย-อาฟริการ่วมใจกันต่อต้านจักวรรดินิยมทั้งสองค่าย

อวสานของ เช เกวาร่า มาถึง เมื่อกองโจรโบลิเวียของเขาโด่งดังขึ้นทุกทีจนอาร์เจนติน่า -เปรู ต้องสั่งปิดพรมแดนสกัดการแพร่ลามของการปฏิวัติจากโบลิเวีย มีคนเข้าร่วมกองกำลังกองโจรมาขึ้น ทหารรัฐบาลโบลิเวียปรับยุทธศาสตร์รับมือกองโจร

แล้ววาระสุดท้ายของเขาก็มาถึงที่ ยูโร ราไวน์ เชได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบและถูกทหารรัฐบาลจับได้ กลุ่มของเขาแตกกระจัดกระจายไม่ต่างกับความหายนะที่ แอลิเกรีย เดอ ปิโอ ในคิวบาระยะต้นการปฏิวัติ มีคนสิบคนเท่านั้นที่รอดชีวิตจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ เขาและเพื่อนๆ ถูกจับได้


เชในฐานะเชลยศึกผู้ได้รับบาดเจ็บถูกสั่งฆ่า ด้วยการยิงเป้าจนร่างพรุน แล้วประชุมเพลิง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1967 เถ้าถ่านกระดูกถูกนำไปทิ้งกระจัดกระจายด้วยความหวาดกลัว จบชีวิตของชายวัย 39 ปี ผู้อัดแน่นพลังความคิดฝัน

วันที่ 13 กรกฎาคม 1997 ณ กรุงซานตาครูซ ประเทศโบลิเวีย รัฐบาลของโบลิเวีย ได้ทำพิธีส่งกล่องบรรจุกระดูกของ เช เกวารา วีรบุรุษของชาวคิวบา และนักปฏิวัติเชื้อชาติอาร์เจนตินา กลับคืนสู่ประเทศคิวบา ท่ามกลางความอาลัยของชาวโบลิเวีย

อัฐิของ เช เกวารา ถูกนำขึ้นเครื่องบินจากซานตาครูซ ถึงฮาวาน่า ประเทศคิวบา นายฟิเดล คาสโตร ประธานาธิบดี เพื่อนรักของ เช และเคยร่วมรบ ได้จัดงานต้อนรับอัฐิของ เช อย่างสมเกียรติ ในฐานะวีรบุรุษของชาติ เพราะ เช เกวารา ไม่ยึดติดกับตำแหน่งใหญ่โตในคิวบา เขาจึงกลายเป็นตำนาน ในจิตใจคนหนุ่มสาวทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 30 กว่าปีแล้ว






รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ 2549.


รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เป็นการก่อรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน


พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้แถลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน ถึงสาเหตุในการยึดอำนาจและให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกาศว่า หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการอธิบายถึงบทบาทที่มีต่อการเมืองไทยในอนาคต[1]


ภายหลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก ใน 41 จังหวัด แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด[2]


รัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฏิกิริยาตอบรับจากนานาชาติมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย การแสดงความความเป็นกลาง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการแสดงความผิดหวังอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต และกล่าวว่า การก่อรัฐประหารนั้น "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้"

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย

'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติ และเป็น กบฏ มีดังนี้

พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร

ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเอง
ในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผลสำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณ-จันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์
ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

24/6/53

การเดินทางของสายปฏิวัติ

อย่าชิงดี ชิงเด่น เห็นแก่ประโยชน์

อย่าไปโทษ ผู้อื่นเขา เฝ้ายุแหย่

จะชั่ว-ดี อยู่ที่ตน คนเขาแล

อย่ารังแก เหยียบบ่าเขา... เพื่อเราเจริญ